พระราชวังจันทน์

  ​เปิดทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น.
ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันท​น์
เปิดทำการอังคาร - อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา 9.00-16.00 น.

 ประวัติความเป็นมา

   ​  ในบรรดาชุมชนเมืองโบราณ  พิษณุโลกจัดเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองจะอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำน่านแล้ว เมืองพิษณุโลกยังเป็นชุมทางการคมนาคมที่เชื่อมโยงติดต่อระหว่างอาณาจักรโบราณหลายแห่ง ได้แก่ ล้านนาที่อยู่ทางเหนือ  ล้านช้างอยู่ทางตะวันออก สุโขทัยและพุกามอยู่ทางตะวันตก และกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางใต้

เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม  โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กันในศิลาจารึก ตำนาน นิทาน และพงศาวดาร เช่น สองแคว สระหลวง สองแควทวิ สาขะ ไทยวนที

ที่เรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำน่านกับแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนทิศทางน้ำออกห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองเก่าในปัจจุบันคือบริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลก และเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาประทับจำพรรษาเมื่อคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ จนเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้โปรดฯ ให้ย้ายเมืองสองแคว มาตั้งอยู่ ณ บริเวณตัวเมืองในปัจจุบัน และยังคงเรียกกันติดปากว่า เมืองสองแคว เรื่อยมา เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองมีลำน้ำน่านไหลผ่านตัวเมือง ทำให้เมืองถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก วัดนี้เป็นวัดสำคัญในฐานะที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย  ขณะที่ฝั่งตะวันตกมีพระราชวังจันทน์ที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา

     เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๐๐๖ ทรงประทับที่พระราชวังจันทน์เป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๕ ปี  จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงโปรดให้สมเด็จพระธรรมราชาธิราช พระมหาอุปราช กับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นพระชายา ไปครองเมืองพิษณุโลก ครอบครองหัวเมืองภาคเหนือ ระหว่างนี้พระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีมีโอรสด้วยกันสองพระองค์ คือ พระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ พระราชธิดาหนึ่งองค์ คือ ​พระพี่นางสุพรรณกัลยา

พระราชวังจันทน์ สถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
และสมเด็จพระเอกาทศรถเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ไม่ไกลจากค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ ๓ ในอดีตเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

         สันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระราชโอรสใน พระยาเลอไท พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วงของอาณาจักรสุโขทัย ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของราชวงศ์พระร่วง ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัยและครองเมืองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๕ - พ.ศ. ๑๙๑๒ ทรงสร้างพระราชวังจันทน์บนเนินดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และใช้เป็นที่ประทับระหว่างเสด็จว่าราชการหรือครองเมืองพิษณุโลกของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้พระราชวังจันทน์ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

รื้อทำลายพระราชวังจันทน์
        ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พม่ายังคงรุกรานไทย ได้ส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงรัตนโกสินทร์หลายครั้ง บ้านเมืองยังไม่มีความเข้มแข็งพอ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำริว่า ไม่มีกำลังทหารพอที่จะป้องกันเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ จึงทรงรวบรวมกำลังพลเพื่อทำสงครามที่กรุงรัตนโกสินทร์เพียงที่เดียว  จึงโปรดให้รื้อทำลายป้อมปราการ กำแพงเมือง และปราสาทราชมณเฑียรในพระราชวังจันทน์เสียสิ้น เพื่อมิให้พม่าข้าศึกใช้เป็นฐานที่มั่นส้องสุมกำลังผู้คนและตระเตรียมเสบียงอาหาร เพื่อที่จะทำสงครามกับกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีก  พระราชวังจันทน์จึงถูกทำลายได้รับความเสียหายอย่างหนัก และได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง เหลือแต่เพียงชื่อ และไม่มีใครสนใจอีก

การค้นพบ
        จนกระทั่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลก และหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงรับสั่งให้ขุนศรเทพบาล สำรวจรังวัด จัดทำผังพระราชวังจันทน์ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จสังเวยเทพารักษ์ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังจันทน์ด้วย และมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า มีซากพระราชวังก่อด้วยอิฐ สูงพ้นดิน ๒-๓ ศอกเศษ มีพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี  มีกำแพงวัง ๒ ชั้น มีสระสองพี่น้องอยู่นอกกำแพงวัง ภายหลังปรักหักพังเป็นป่ารกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก

สร้างโรงเรียนในพระราชวังจันทน์
       ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (รัชกาลที่ ๗) ได้มีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากวัดนางพญา มาสร้างที่พระราชวังจันทน์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก เพื่อให้นักเรียนดูแลรักษาพระราชวังจันทน์ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  มีการปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ มาเป็นลำดับในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ที่บริเวณสนามบาสเกตบอลใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ขณะคนงานก่อสร้างขุดหลุมเสาฐานราก จึงได้พบซากอิฐเป็นแนวกำแพง วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ได้แจ้งมายังหน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย ว่ามีการขุดพบซากอิฐเก่าในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

พระราชวังจันทน์จากหลักฐานโบราณคดี
       หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย จึงมอบหมายให้ นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีเข้าไปตรวจสอบ  การดำเนินงานทางโบราณคดีที่พระราชวังจันทน์ จึงเริ่มขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕ การขุดตรวจสอบเบื้องต้น พบกำแพงพระราชวังจันทน์ชั้นนอก ประตูพระราชวังจันทน์ และทิมดาบ พบกำแพงพระราชวังจันทน์ชั้นใน ประตูพระราชวังจันทน์ และเนินฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณสนามโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  และสรุปผลจากหลักฐานโบราณคดีว่า พระราชวังจันทน์มีการซ่อมสร้างโดยการรื้อแล้วสร้างใหม่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง การก่อสร้างครั้งแรกน่าจะไม่ช้าไปกว่ารัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงประทับอยู่ที่พิษณุโลกเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี  การสร้างวังครั้งที่สอง น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่เมืองพิษณุโลกร้างไป ๘ ปีระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๑๒๗-๒๑๓๓ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง  จากนั้นทรงโปรดฯ ให้อพยพครัวเรือนชาวพิษณุโลกไปรวมอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นเป็นต้นมาคงไม่มีการรื้อสร้างวังใหม่ แต่น่าจะเป็นการซ่อมแซมพระราชวังเดิมเท่านั้น เพราะหลังจากสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๔๘ นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาทรงโปรดฯ ให้อุปราชมาครองเมืองพิษณุโลกอีกเลย จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองพิษณุโลกได้รับการปรับปรุงพัฒนาในฐานะเมืองสำคัญ ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมป้อมค่ายคูเมือง การประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและการสร้างมณฑปครอบที่วัดจุฬามณี ในปี พ.ศ. ๒๒๒๔

การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
      หลังจากการดำเนินการขุดตรวจสอบเมื่อ ปี พ.ศ.  ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังจันทน์เป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และกำหนดขอบเขตพระราชวังจันทน์ ให้ครอบคลุมพื้นที่พระราชวังจันทน์และวัดสำคัญอีกสามแห่ง คือ วัดวิหารทอง วัดศรีสุคต และวัดโพธิ์ทอง รวมเนื้อที่ ๑๒๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา  และได้ข้อสรุปว่า ควรมีการโยกย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่เหมาะสม เพื่อดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณะ และอนุรักษ์พระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน โดยจัดทำเป็นแผนงานโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕

เมื่อมีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ตำบลท่าทองแล้ว กรมศิลปากรจึงดำเนินงานทางโบราณคดีตามมติคณะรัฐมนตรี เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยขุดค้น ขุดแต่งพื้นที่พระราชวังจันทน์ได้ครบทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และดำเนินการบูรณะ อนุรักษ์ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

        สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒) พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา และองค์ที่ ๒ ของราชวงศ์สุโขทัย ที่ได้ครองกรุงศรีอยุธยา (พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระมหาธรรมราชา) ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ประสูติที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๐๙๘ ชาวเมืองพิษณุโลกและชาวต่างประเทศเรียกพระนามพระองค์อย่างสามัญว่า พระองค์ดำ ส่วนสมเด็จพระอนุชาเรียกว่า พระองค์ขาว ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องที่สุดนั้น เรียกพระนามของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า” ขณะทรงพระเยาว์ ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก จนถึงปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระชนมายุ ๙ พรรษา พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นทูลขอช้างเผือกจากกรุงศรีอยุธยา ๒ ช้าง (ขณะนั้นมีช้างเผือกอยู่ทั้งหมด ๗ ช้าง) สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกทรงมีพระบรมราชโองการไม่ประทานช้างเผือก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงถือเป็นเหตุยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา (เรียกกันว่า สงครามช้างเผือก) โดยยกทัพผ่านมาทางสุโขทัย แล้วเลยมาล้อมเมืองพิษณุโลกเอาไว้ พระมหาธรรมราชาซึ่งครองเมืองพิษณุโลกเห็นจะสู้พม่าซึ่งมีกำลังพลมหาศาลไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า พระเจ้าบุเรงนองได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพลงไปตีกรุงศรีอยุธยาด้วย ผลของสงคราม ทำให้ไทยต้องยอมเป็นไมตรี และยอมถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี ตามประเพณีการปกครองเมืองขึ้นของไทยและของพม่ามาแต่โบราณ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องนี้ไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดีจนพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงได้ถวายพระสุพรรณกัลยาไปแลกเปลี่ยน และเมื่อเสด็จกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว พระราชบิดาจึงแต่งตั้งให้ขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก จดหมายเหตุของวัน 
      วลิต กล่าวว่า เมื่อพระนเรศวรเสด็จหนีจากกรุงหงสาวดีมาเข้าเฝ้าพระราชบิดา ณ กรุงศรีอยุธยานั้น พระราชบิดาทรงตกพระทัยและโศกาดูร ทรงห่วงใยศึกพม่าเพราะบ้านเมืองยังขาดแคลน ราษฎรก็อดอยากยากแค้น รี้พลก็มีน้อย จึงอยากจะรักษาพระราชไมตรีกับพม่าต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อการเป็นไปแล้วก็ต้องปล่อยไป จึงส่งสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน ปี พ.ศ. ๒๑๑๔ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๗ พรรษา ขณะที่พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกได้สะสมฝึกปรือพละกำลังพล เช่นเดียวกับทางกรุงศรีอยุธยาก็บำรุงไพร่พลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะมีกองทัพของกัมพูชายกเข้ามารุกรานหลายครั้ง บางครั้งเป็นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงไปเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาก็ได้ร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทำสงครามขับไล่กองทัพกัมพูชาให้ถอยกลับไป ส่วนกองทัพเมืองพิษณุโลกนั้นได้แสดงความสามารถในสงครามปราบเมืองรุมเมืองคังเมืองของไทยใหญ่ ซึ่งแข็งข้อกับพม่า สงครามครั้งนั้นทำให้สมเด็จพระนเรศวรมีพระเกียรติยศเกรียงไกร เป็นที่เกรงขามต่อพม่าอันเป็นสาเหตุนำไปสู่การวางแผนลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ โดยจะลงมือขณะที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีปราบเมืองอังวะที่แข็งเมือง

เมื่อเสด็จไปถึงเมืองแครงก็ทรงทราบแผนร้ายของพม่า จึงทรงหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล

       ออกพระโอษฐ์ตรัสประกาศเอกราชจากพม่า หลังประกาศเอกราชแล้ว พม่าก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีไทยอีกหลายครั้ง ทำให้สมเด็จพระนเรศวรต้องถ่ายเทผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ๑๗ หัวเมือง ลงไปรวมกำลังต้านทานพม่าที่กรุงศรีอยุธยาจนถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๑๓๔ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต  สมเด็จพระนเรศวรซึ่งที่จริงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยการปกครองมาแล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างสมบูรณ์ ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๖ พรรษา ความที่พระองค์โปรดพระอนุชา เพียงจะทรงตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ไม่เพียงพอพระราชหฤทัย จึงทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ พระอนุชาที่ตามเสด็จเข้าร่วมศึกสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่สมเด็จพระบรมเชษฐา เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ถวายพระราชอิสริยยศเยี่ยงพระเจ้าแผ่นดินคู่กัน นับว่าในแผ่นดินนี้มีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ (Second King) และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยและต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเอาเป็นแบบอย่าง ทรงแต่งตั้งพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราชและถวายพระเกียรติยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน เรียก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากครองราชย์ไม่นาน พม่าได้แต่งตั้งให้พระมหาอุปราชยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ สงครามคราวนี้สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปต่อสู้นอกกรุงศรีอยุธยาถึงสุพรรณบุรี นับเป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย ศึกครั้งนี้ได้กระทำยุทธหัตถี ทรงสามารถเอาชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔  ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕  การยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเลื่องลือไปไกลถึงกรุงปักกิ่งและนานาประเทศทางยุโรป ทรงเป็นมหาราชที่ชาวต่างประเทศรู้จักและยกย่องมากที่สุดหลังจากนั้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานสยามประเทศเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปีวัน 

       วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาหลังจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตไปเพียง ๒๐ ปีเศษ ได้บันทึกเรื่องราวยุทธหัตถีที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดและยกย่องชื่นชมยิ่งว่า “พระนเรศวรประสบชัยชนะครั้งนี้ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา พระองค์สามารถปกป้องพระราชอาณาจักรของพระราชบิดาไว้ไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นได้ และนับแต่นั้นมาพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ไม่ขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในโลกนี้อีกเลย”นอกจากนี้ วัน วลิต ยังได้บรรยายถึงเหตุการณ์ตอนจะกระทำยุทธหัตถี ว่า ช้างของสมเด็จพระนเรศวร เจ้าพระยาไชยานุภาพนั้น รูปร่างเล็กกว่าพลายพัธกอช้างทรงของพระมหาอุปราชมากนัก เมื่อประจันหน้ากัน ช้างเล็กกว่าก็ตกใจกลัวถึงกับเบนหัวจะถอยกลับ สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปลุกปลอบพระยาช้างต้น ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทยที่ไพเราะกินใจไว้ในหนังสือกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ มีความว่า...พระเจ้าหงสาวดียกทัพอันมีกำลังใหญ่หลวงมายังกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวรยกทัพมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซากวัดร้างนั้นยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้) เรียกว่าเครงหรือหนองสาหร่าย เพื่อปะทะทัพมอญ เมื่อกองทัพทั้งสองมาประจัญกันเข้า พระนเรศวรและพระมหาอุปราชา (ต่างองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ และประทับบนพระคชาธาร) ต่างทอดพระเนตรเห็นกันเข้า ต่างองค์ก็มีพระทัยฮึกเหิม เสด็จออกจากกองทัพ ขับพระคชาธารโดยปราศจากรี้พลเข้าหากันประดุจว่าเสียพระจริต แต่พระคชาธารที่พระนเรศวรทรงอยู่นั้นเล็กกว่าพระมหาอุปราชามากนัก เมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์มุ่งเข้าหากัน ช้างที่เล็กกว่าก็ตกใจกลัวช้างที่ใหญ่กว่า ถึงกับเบนหัวจะถอยกลับอยู่ท่าเดียว พระนเรศวร์ก็ตกพระทัยจึงตรัสกับเจ้าพระยาช้างต้นว่า 
 
“พ่อเมืองเอย  ถ้าท่านละทิ้งเรา ณ บัดนี้ ก็เท่ากับว่าท่านละทิ้งตัวท่านเองและลาภยศของท่านทั้งปวง เราเกรงว่าแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านจะไร้ยศศักดิ์ หากษัตริย์มาทรงท่านมิได้ ขอให้คิดดูเถิดว่าขณะนี้พระชาตาของกษัตริย์สองพระองค์ขึ้นอยู่กับท่าน และท่านสามารถจะสู้ให้เราชนะศึกได้ ขอให้ท่านดูราษฎรผู้ยากไร้ของเรา คิดดูเถิดว่าเขาจะต้องพ่ายแพ้และกระจัดพลัดพรากถึงปานไฉน ถ้าหากว่าเราทั้งสองหนีสมรภูมิ แต่ถ้าหากเราทั้งสองยืนหยัดอยู่ไซร้ ด้วยความกล้าหาญของท่านและกำลังของเรา เราก็อาจเอาชนะข้าศึกได้ และเมื่อได้ชัยชนะแล้วเราก็จะได้เกียรติยศร่วมกันสืบไป "

      ขณะที่พระองค์ตรัสแก่พระยาช้างต้นนั้น ก็ทรงพรมน้ำเทพมนต์ซึ่งพราหมณ์ได้ทำถวายสำหรับโอกาสนี้ลงบนศีรษะช้างสามครั้ง  ขณะนั้นน้ำพระอสุชลก็ไหลลงตกต้องงวงพระคชาธาร  พระยาช้างผู้ชาญฉลาดนั้น เมื่อได้รับน้ำเทพมนต์และน้ำพระอสุชล และได้ยินพระราชดำรัสของวีรกษัตริย์ก็มีใจฮึกเหิม ชูงวงขึ้นประณตแล้วเบนหัวสู่ข้าศึก พลันวิ่งสู่กษัตริย์มอญดุจเสียสติ อำนาจของพระยาช้างต้นในการสู้รบครั้งนี้แลดูน่ากลัวและน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก”สงครามยุทธหัตถีครั้งนั้น คงเป็นเรื่องที่ชาวกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงด้วยความปราบปลื้มภาคภูมิใจมิรู้ลืมเลือน แม้ วัน วลิต จะเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาหลังจากนั้นหลายปี ก็ยังสามารถเล่าให้ชาวต่างประเทศฟังอย่างละเอียดลออ

พระราชวังจันทน์

อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

65000

Comment Facebook