หลวงพ่อเพชรกลับประทานพร และหลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด แห่งวัดโพธิญาณ จังหวัดพิษณุโลกมีวัดงามและเก่าแก่มากมาย ทั้งยังมีวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอย่างวัดใหญ่ หรือ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร" มีหลวงพ่อพุทธชินราช และยังมีวัดรอบๆจังหวัดที่สำคัญ อย่างวันนี้เราจะมาแนะนำวัดโพธิญาณ
ซึ่งอยู่คู่กับเมืองพิษณุโลกมาอย่างยาวนั้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
วัดโพธิญาณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านขึ้นไปทางตอนเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาครองเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ.2006-2031 โดยน่าจะสร้างพร้อมๆ กับการสร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก โดยยังคงเหลือร่องรอยแนวกำแพงเมืองเก่าให้เห็นในบริเวณวัด อีกทั้งในสมัยนั้นถือได้ว่าวัดโพธิญาณเป็นวัดประจำเมืองพิษณุโลกทางด้านทิศเหนือ หากมองจากวัดโพธิญาณจะเห็นแนวพระราชวังจันทน์ ต่อมาวัดโพธิญาณน่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระพี่น้อง หลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด
ต่อมาถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี เมืองพิษณุโลกถูกทำลายจากภัยสงคราม วัดโพธิญาณก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ถูกทำลายในครั้งนั้นด้วยจนกลายเป็นวัดร้าง สืบต่อมาอีกกว่าร้อยปี ใน พ.ศ. 2460 พระอาจารย์โต้ได้ธุดงค์มาปักกลดบริเวณซากโบราณสถานวัดร้างนี้ หมื่นชำนาญนิติเพชร (จ่าคร้าม ผลเกิด) พร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระอาจารย์โต้ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดร้างแห่งนี้ และร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานให้มั่นคงถาวรขึ้นสืบมาจนกลายเป็นวัดโพธิญาณในปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้คือบริเวณอุโบสถเก่าและฐานเจดีย์เก่าที่เป็นโบราณสถานสมัยอยุธยา อายุกว่า 600 ปี โดยมีพระพุทธรูปสองพี่น้องนามว่า "หลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด" ที่พบในลักษณะผุดขึ้นมาเพียงครึ่งองค์จากห้องกรุใต้ฐานชุกชี ซึ่งเป็นลักษณะเดิมกับที่ขุดพบครั้งแรกเมื่อปี 2511 ในครั้งนั้นพบพระผุดสองพี่น้องนี้พร้อมกับพระพุทธรูปสำริดศิลปะอยุธยาขนาดหน้าตัก 3-12 นิ้ว จำนวนหลายร้อยองค์และโบราณวัตถุอีกนับพันชิ้น บางส่วนนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัย
ลอดใต้ฐานพระตามความเชื่อว่าจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย
รวมถึงพระพิมพ์พระพุทธชินราชซุ้มเส้นคู่ พระนางพญากรุวัดโพธิญาณ (โรงทอ) พิมพ์มีหูและไม่มีหู ซึ่งเป็นที่นิยมและเป็นหนึ่งในเบญจภาคีของวงการพระเครื่องพระบูชาไทย ที่นักเลงพระเครื่องต่างอยากมีไว้เช่าบูชาในครอบครอง
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระประธานประจำอุโบสถเก่าแห่งนี้คือ "หลวงพ่อเพชรกลับประทานพร" พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ซึ่งหล่อขึ้นใหม่ด้วยโลหะสำริดย้อนยุคแบบโบราณขนาดหน้าตัก 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว มีพุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชรกลับ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา พระหัตถ์ขวาแสดงปางสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระทรงแสดงปางประทานพร สร้างตามคติโบราณที่ว่าพุทธานุภาพแห่งพระพุทธคุณจะสะท้อนให้สิ่งชั่วร้ายกลับกลายเป็นดี แก้ดวงชะตาตก หนุนดวงชะตาขึ้น ซึ่งบริเวณฐานชุกชีได้ทำเป็นโพรงเตี้ยๆ ให้คนได้เข้าไปลอด ตามความเชื่อว่าจะรอดปลอดภัยจากสิ่งอันตรายต่างๆ
ฐานเจดีย์เก่า
โค้งแม่น้ำน่านหน้าวัดโพธิญาณ
เรียกได้ว่าวัดนี้เป็นวัดดังในหมู่คนเล่นพระเครื่องอยู่ไม่น้อย แต่ปัจจุบันคนอาจรู้จักวัดโพธิญาณในเรื่องของความเป็นต้นแบบของ "ขนมปังรสพระทำ" อันโด่งดังเสียมากกว่า ขนมปังรสพระทำนี้หากจะเล่าต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ที่เกิดเหตุพิบัติภัยน้ำท่วมใหญ่กันแทบทั้งประเทศ เมืองพิษณุโลกก็โดนแม่น้ำน่านท่วมหนักไม่แพ้กัน วัดโพธิญาณที่ตั้งอยู่บริเวณโค้งแม่น้ำน่านเองก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ
แต่เมื่อน้ำเริ่มลด ปรากฏว่าสายน้ำได้นำพาเอาปลาหลากชนิดไหลมากับน้ำด้วย และมารวมตัวกันอยู่บริเวณโค้งน้ำหน้าวัดโพธิญาณ กลายเป็นวังปลาแห่งใหม่ไปแบบงงๆ จากนั้นคนที่มาทำบุญที่วัดก็มักจะแวะทำทานให้อาหารปลากันที่หน้าวัด จนต่อมาทางวัดจึงได้สร้างแพขึ้นที่ริมน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติโยม และประกาศว่าบริเวณนี้เป็นเขตอภัยทาน จำนวนปลาในบริเวณนี้ก็ชุกชุม มากขึ้นๆ พร้อมกับที่คนมาให้อาหารปลาเยอะขึ้น