วัดราชบูรณะพิษณุโลก
วัดราชบูรณะ ปัจจุบันตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ติดฝั่งแม่น้ำน่าน เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ตรงข้ามกับวัดนางพญา โดยมีถนนมิตรภาพตัดผ่ากลาง ทำให้วัดอยู่คนละฝั่งถนน ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างว่า เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยใด วัดแห่งนี้เดิมมีอาณาเขตติดต่อกับวัดนางพญา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2502 กรมทางหลวงได้ตัดถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก คือ ถนนมิตรภาพ ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านเข้าไปในเนื้อที่วัดนางพญาและวัดราชบูรณะ ถนนมิตรภาพได้ตัดเฉียดพระอุโบสถไปอย่างใกล้ชิด จนต้องรื้อย้ายใบเสมามุมพระอุโบสถด้านตะวันออกเฉียงเหนือประวัติวัดบนไม้แผ่นป้ายของวัด มีความว่า “วัดราชบูรณะเดิมไม่ปรากฏชื่อ ก่อสร้างมานาน 1,000 ปีเศษ ก่อนที่พระยาลิไทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ดังนั้นวัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดราชบูรณะ” รวมความยาวนานถึงปัจจุบันประมาณ 1,000 ปีเศษ พระยาลิไททรงสร้าง พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา แล้วทองยังเหลืออยู่จึงได้หล่อพระเหลือขึ้น และทรงทอดพระเนตรเห็นว่าวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้บูรณะขึ้นมาอีกครั้งจึงได้นามว่า “ราชบูรณะ”และได้รับการบูรณะครั้งแรกในสมัยพระยาลิไทที่ได้กลายเป็นที่มาของชื่อวัดในปัจจุบัน โดยวัดราชบูรณะนั้นมีความน่าสนใจอยู่ที่ตัวพระอุโบสถซึ่งมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ที่ชายคาตกแต่งด้วยนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ส่วนองค์พระประธานนั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อทองสุข) ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์เป็นรูปรามเกียรติ์ ซึ่งวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และอยู่ตรงข้ามกับวัดนางพญา
พระวิหารหลวงวัดราชบูรณะ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 13 เมตร หันไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีทางขึ้นลง 3 ทาง ประตู 3 คู่ หน้าต่างด้านละ 7 คู่ พื้นวิหารยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1.75 เมตร พระวิหารมีสถาปัตยกรรมทรงโรง 9 ห้อง ศิลปะสมัยสุโขทัยด้านหน้ามีระเบียงเสาหานร่วมเรียงในรองรับ 4 เสา มีบัวหัวเสาเป็นบัว 2 ชั้นมีกลีบยาว ส่วนหลังคาสร้างแบบเดียวกันกับพระอุโบสถ ต่างกันที่ใช้พญานาคเศียรเดียว พระอุโบสถเป็นพญานาคสามเศียร บานประตูหน้า 3 คู่ หลัง 2 คู่ แกะสลักลวดลายดอกบัวตูมเรียงต่อกัน เสาในพระวิหารมี 2 แถว แถวละ 7 ต้น เป็นเสาศิลาแลงก่ออิฐถือปูนทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ทาสีแดงฉลุสีทองที่โคนเสาและปลายเสาเพื่อรองรับตัวขื่อที่บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบซ้อนกัน 5 ชั้น ที่คานบนมีลายดอกไม้เขียนพื้นไม้สีดำลายฉลุทอง ภายในพระวิหารหลวง ประดิษฐาน หลวงพ่อทองดำ พระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 5.50 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อทองดำ ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนกราบไหว้บูชาขอพรขอโชคขอลาภล้วนประสิทธิผล พระพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธชินราชมาก ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 2 ชั้น สูง 1.50 เมตร ชั้นล่างสูง 1 เมตร เป็นรูปเท้าสิงห์ ชั้นบนสูง 0.5 เมตร เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย
พระอุโบสถมีขนาด กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 10 เมตร ลักษณะก่ออิฐถือปูน ผนังหนาราว 50 เซนติเมตร มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าสองแห่งและด้านหลังสองแห่ง โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา พระอุโบสถวัดราชบูรณะเป็นการวางรูปโบสถ์แบ่งออกเป็นหกห้อง ประตูหน้าหลังด้านละสองประตูหลัง หลังคามุขหน้าหลังปีกนกคลุมสองชั้น ทรงนี้เรียกว่า แบบทรงโรง ลักษณะเป็นแบบเก่าสมัยอยุธยาและถูกซ่อมแซมมาหลายยุคสมัย ภายในมีเสาห่านร่วมในเรียงอยู่สองแถว เพื่อรับตัวขื่อ หน้าจั่วเป็นแบบเก่าคือแบบภควัม เช่นเดียวกับจั่ววิหารพระพุทธชินราช แปดเหลี่ยมเพื่อรองรับรวยระกาที่หนาบันโดยเฉพาะ ลำยองจึงไม่ทำวงแบบ นาคสะดุ้ง หางหงส์และนาคปรก ทำเป็นนาคเบือน ลักษณะความแหลมของแนวหลังคาเป็นแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกา ตามแบบป้านลมสมัยสุโขทัยได้อย่างดีบานประตูสลักรูปดอกเป็นสี่กกลีบแบบดอกลำดวน ภายในอุโบสถเป็นภาพเขียน เรื่องรามเกียรติ์และตอนที่ดีที่สุดคือ ตอน ทศกัณฐ์สั่งเมืองที่ผนังด้านทิศเหนือ ส่วนด้านล่างเป็นเรื่อง กามกรีฑา ซึ่งไม่พบที่ใดมาก่อน น่าจะเขียนขึ้นในรัชกาลที่ 4 บางตอนถูกน้ำฝนเสียหาย และพระประธานก็นับว่างดงามมาก ปัจจุบันทางวัดได้มีการบูรณะเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาและทาสีขาวใหม่ทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย(หลวงพ่อทองสุข) ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีก่ออิฐถือปูนชั้นล่างเป็นฐานเท้าสิงห์ 2 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ปิดทองประดับกระจกสี
เจดีย์วัดราชบูรณะอายุเกือบ 600 ปีย้อนหลังไปถึงสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เจดีย์กล่าวกันว่าเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ
ของ พระพุทธเจ้า นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่สวยงาม มีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเหรียญเก่า ธนบัตร เครื่องดนตรีและวัตถุที่ทำด้วยแก้ว ผนังตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงาม รวมถึงหอระฆังโบราณ พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้พร้อมกับสวนและมีรูปปั้นหงส์หกตัวยืนอยู่ข้าง ๆ พระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญในเขตวัด
ในปี พ.ศ. 2006 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (1991-2031) แห่ง กรุงศรีอยุธยา ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรของพระองค์ไปที่พิษณุโลกและสั่งการสถาปนาวัดใหม่เช่นเดียวกับการฟื้นฟูวัดเก่าที่มีอยู่ วัดราชบูรณะย้อนหลังกลับไปก่อนรัชสมัยของพระองค์ในพิษณุโลก พระองค์สั่งให้สร้างเจดีย์และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในเขตของวัด ทุกวันนี้เจดีย์เกือบทั้งหมดเป็นสิ่งก่อสร้างเดิม อย่างไรก็ตามสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางซากปรักหักพัง ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นผู้นำในการก่อสร้างและบูรณะวัด
27 กันยายน พ.ศ. 2479 ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
พ.ศ. 2557 ได้รับการยกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
หลวงพ่อทองสุข
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์
เป็นรูปรามเกียรติ์วาดในสมัย รัชกาลที่ 4
หลวงพ่อสำเร็จ
สมเด็จพระนางพญาวัดราชบูรณะ
วัดราชบูรณะได้เริ่มดำเนินการหล่อพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง ขนาดที่ใหญ่องค์นี้ที่ลานเจดีย์หลวง เมื่อวันวิสาขบูชา 18 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการหล่อแบบทีละชิ้น จากนั้นได้ประกอบพิธีต่างๆ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากพิธีเททองหล่อ เฉพาะส่วนยอดเกศ ด้วยทอง เงิน เงินยวง หรือเป็นการเททองหล่อด้วยปัญจะโลหะอะลูมินัมบรอนซ์ และเททองแต่ละส่วน ก่อนถอดแบบออกทีละชิ้นแล้วมาต่อกันจนครบ พร้อมตบแต่งขัดเงาห้วงตลอดระยะเวลา 3 ปี กระทั่งเสร็จและเคลื่อนย้ายจากวัดราชฯ ปัจจุบันไปยังที่ดินของวัดอีกฝั่งตรงข้ามถนนดังกล่าว
เมื่อวันที่ วันที่ 31 มกราคม 2568 พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ หรือ “หลวงพ่อสำลี” เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธี เททองหล่อพระนางพญาหน้าตัก 108 นิ้ว พิมพ์เทวดา เพื่อประดิษฐานเป็นองค์บริวารด้านข้างสมเด็จพระนางองค์ใหญ่
“พระนางพญา” ถือเป็นหนึ่งในเบญจภาคีในวงการพระเครื่อง ส่วนพระบูชา และงดงามที่สุด ก็คือพระพุทธชินราช ประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศที่มาเยือนเมืองพิษณุโลก ต้องแวะมากราบไหว้ทั้ง พระพุทธชินราชและพระนางพญาในคราวเดียว
เรือเสด็จน่านนที
เรือไม้โบราณในศาลานาวาเสด็จน่านนทีภายในวัดราชบูรณะ ชาวเมืองพิษณุโลกใช้เรือลำนี้พร้อมทั้งเรือร่วมขบวนประมาณ 20 ลำ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและข้าราชบริพารเมื่อครั้งพระองค์ประพาสเมืองพิษณุโลกประมาณปี พ.ศ.2444 โดยเรือหลวงนั้นจะจอดไว้ที่ จ.นครสวรรค์ และเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับ จึงนำเรือร่วมขบวนเสด็จขึ้นเก็บไว้ยังวัดต่าง ๆ ทุกวันนี้ที่ยังมีให้เห็นกันอยู่ เช่น วัดบางทราย วัดท่าตะเคียน เป็นต้น เมื่อปี พ.ศ.2527 ทหารค่ายสฤษดิ์เสนามาช่วยพัฒนาวัดอยู่หลายร้อยนายพบเรือลำนี้จมอยู่ใต้ดิน พระอธิการสิน อมโร (จิตรจอม) เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นจึงขอให้เหล่าทหาร ช่วยนำเรือขึ้นมาไว้ที่ใต้หอไตรปิฎก เมื่อบูรณะเสร็จจึงนำไปไว้ที่หน้าศาลาการเปรียญ ต่อมาปี พ.ศ.2533 ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ได้นำไปบูรณะซ่อมแซมต่อเติมแล้วนำลงลอยแม่น้ำน่าน ในนาม เรือพระยาจีนจัตตุ ช่วงงานแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพิษณุโลก 400 ปี หลังจากนั้นนำขึ้นมาจัดเก็บไว้ที่วัดราชบูรณะ คาดว่าเป็นเรือที่ประทับ เพราะมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเรือร่วมขบวนเสด็จ มีขนาดกว้าง 1.70 เมตร ยาว 12 เมตร
เวลาเปิด-ปิด วัดราชบูรณะ
เปิดทุกวัน 06.00 - 18.00 น.